โรคขอบใบแห้งข้าว (bacterial leaf blight of rice) เป็นโรคที่สำคัญโรคหนึ่งในข้าวที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะพบการระบาดและเข้าทำลายมากในช่วงฤดูฝนทำให้ผลผลิตเสียหายเป็นอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่นาเขตชลประทานที่สามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี
เชื้อสาเหตุ
เกิดจากแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. oryzae ข้าวที่เป็นโรคจะขับเชื้อแบคทีเรียออกมาทางช่องเปิดธรรมชาติหรือบาดแผลเป็นหยดของเชื้อแบคทีเรีย (bacterial ooze) แล้วแพร่กระจายไปกับน้ำ หรือลมฝน ถ้าต้นข้าวเกิดบาดแผล เช่น จากเข้าทำลายของหนอนห่อใบหรือแมลงศัตรูอื่นๆ จะทำให้การเข้าทำลายของเชื้อรุนแรงมากยิ่งขึ้น แปลงข้าวที่ใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากจะเป็นปัจจัยส่งเสริมที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งการทำนาหว่านที่ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวในอัตราสูง
ลักษณะอาการโรค
อาการต้นกล้าก่อนนำไปปักดำ มีจุดช้ำเล็กๆ ลักษณะช้ำที่ขอบใบล่าง แล้วขยายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าวใบแห้งเร็ว และสีเขียวจะจางลงเป็นสีเทาๆ
อาการในระยะปักดำ ขอบใบมีรอยขีดช้ำ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีหยดน้ำสีครีมกลมๆขนาดเล็ก และกลายเป็นสีน้ำตาล หลุดไปตามน้ำหรือฝน ซึ่งทำให้โรคระบาดออกไปได้ แผลจะขยายไปตามความกว้างของใบ ขอบแผล มีลักษณะเป็นขอบลายหยัก จะเปลี่ยนเป็นสีเทาใบที่เป็นโรคขอบใบจะแห้งและม้วนตามความยาว ถ้าต้นข้าวมีความอ่อนแอต่อโรคจะเหี่ยวเฉาและแห้งตายทั้งต้นอย่างรวดเร็ว
การป้องกันกำจัด
- หมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ
- เฝ้าระวังการเกิดโรคถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ข้าวดอกมะลิ105 กข6 เหนียวสันป่าตอง พิษณุโลก2 ชัยนาท1
- ใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี60 สุพรรณบุรี90 สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 กข7 และ กข23
- ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนปริมาณมาก
- ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น
- ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช (หากพบอาการ)