โรคที่เกิดจากใบ

ปัญหา!!โรคใบที่เกิดจาก เชื้อคอลเลตโตตริกัม
| |

ปัญหา!!โรคใบที่เกิดจาก เชื้อคอลเลตโตตริกัม

เชื้อสาเหตุ เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides (Gloeosporium alborubrum) และ Colletotrichum heveae

ลักษณะอาการของโรค

        ถ้าเกิดจากเชื้อ C.gloeosporioides เชื้อนี้เข้าทำลายใบยางขณะมีอายุ 5 – 15 วัน หลังจากเริ่มผลิต คือ ระยะที่ใบขยายและกำลังเปลี่ยนจากสีทองแดงเป็นเขียวอ่อน เมื่อเชื้อราเข้าทำลายอย่างรุนแรง ใบจะเหี่ยวและหลุดร่วงทันที แต่ถ้าหากเชื้อราเข้าทำลายเมื่อใบโตเต็มที่แล้ว ใบจะแสดงอาการเป็นจุด ปลายใบหงิกงอ แผ่นใบเป็นจุดสีน้ำตาล มีขอบแผลสีเหลือง เมื่อใบมีอายุมากขึ้นจุดเหล่านี้จะนูนจนสังเกตเห็นได้ชัด

        ถ้าเกิดจากเชื้อ C.heveae ระยะเริ่มแรกของโรคนี้จะมีแผลเป็นจุดสีน้ำตาลขนาดเล็กค่อนข้างกลม ขอบแผลมีสีน้ำตาลเข้ม แล้วขยายออกจนกลายเป็นแผลใหญ่ขึ้น ซึ่งแผลของโรคนี้จะใหญ่กว่าโรคที่เกิดจาก C. gloeosporioides ตรงกลางแผลจะเกิดจุดสีดำของราเป็นคล้ายขนแข็ง ๆ ยื่นขึ้นมาจากผิวใบ โรคนี้มักเกิดกับต้นยางที่ปลูกในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และการแพร่กระจายของโรค

        เชื้อนี้จะแพร่กระจายในระยะฝนชุก และเข้าทำลายส่วนยอดหรือกิ่งอ่อนที่ยังเป็น สีเขียวอยู่ ซึ่งจะเห็นเป็นรอยแตกบนเปลือก โดยแผลมีลักษณะกลมคล้ายฝาชีที่ยอดขาดแหว่งไป หรือมีรูปร่างยาวรีไปตามเปลือกก็ได้ ถ้าเป็นมากยอดนั้น ๆ จะแห้งตาย หากอากาศแห้งแล้งในระยะต่อมาจะทำให้ต้นยางเล็กแห้งตายได้

การป้องกันกำจัด

  1. เนื่องจากโรคนี้เกิดกับยางที่ไม่สมบูรณ์ การบำรุงรักษาสภาพดินให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นยาง จึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
  2. ป้องกันใบที่ผลิออกมาใหม่มิให้เป็นโรค โดยใช้สารเคมี ไซเน็บ หรือแคบตาโฟล ผสมสารจับใบฉีดพ่น 5 – 6 ครั้ง ในระยะที่ใบอ่อนกำลังขยายตัวจนมีขนาดโตเต็มที่